วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดอกบัวเจ็ดดอก คืออะไรการเดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก มีที่มาจากภาพปริศนาธรรม ดอกบัวเจ็ดดอกที่รองรับรอยพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะวันประสูติ เดินได้เจ็ดก้าว มีดอกบัวรองรับเจ็ดดอก

พระอาจารย์กุสลจิตโต ไขปริศนาธรรม (เดินเจ็ดก้าวดอกบัวเจ็ดดอกรองรับ) มาเป็นกรรมฐาน "เดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก" เดินตามรอยเท้าเจ็ดก้าว เดินไปเจ็ดก้าวกระทบส้นเท้าเดินกลับเจ็ดก้าวกระทบส้นเท้า ตามรอยเท้าเจ้าชายสิทธัตถะองค์น้อย

พรรษาแรกแห่งการบวชของพระอาจารย์กุสลจิตโต(๒๕๓๖)ท่านตั้งสมมุติฐานว่า พระพุทธเจ้าประสูติ เดินได้เจ็ดก้าวมหัศจรรย์ยิ่งนัก ในโลกนี้จะมีใครเกิดแล้วเดินได้เจ็ดก้าวมีอีกบ้างไหม ท่านพิจารณาแล้วไม่มีใครนอกจากพระพุทธเจ้า พระอาจารย์กุสลจิตโต ตั้งสมมุติฐานต่อว่าจะเดินตามรอยพระพุทธเจ้าก็ต้องเดินให้ได้เจ็ดก้าวตามแบบอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ เดินตามไปเรื่อยๆ ต่อไป เจ้าชายน้อยสิทธัตถะก็คือพระพุทธเจ้า

พระอาจารย์กุสลจิตโต จึงเกิดการค้นหา เดินอย่างไรจะเดินไปได้เจ็ดก้าว เดินกลับได้เจ็ดก้าวท่านทดลองค้นหาอยู่สามวัน จึงค้นพบ "เดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก" และท่านใช้ศิลปะการเดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอกนี้ค้นหาชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน






ข้าพเจ้า นางสาววรรณฤดี รัตนะ อาจารย์สอนวิชาพุทธศาสนา โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ได้ทดลองทำความเข้าใจชีวิตด้วยการเดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก จากปี พ.ศ.๒๕๔๓ ถึงปัจจุบัน ได้ดอกบัวเจ็ดดอกในหัวใจ คือ หาทุกข์ พบทุกข์ เรียนทุกข์ รู้ทุกข์ ผ่านทุกข์ ถึงธรรม สำราญใจ

จึงนำมาแนะนำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ได้ทดลองฝึกในคาบเรียน และได้จัดค่าย สติภาวนาดอกบัวเจ็ดดอก ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๗

ทำอะไร ใน ดอกบัวเจ็ดดอก

คำตอบคือ ฝึกสติ ฝึกปัญญาอันเลิศ เกิดพุทธะภายในตัวเอง ฝึกด้วยตัวเองรับรองตัวเองได้ว่าทุกข์ลดลง

ทำไมต้องเดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก
พัฒนาจิต อารมณ์แจ่มใสเบิกบานทำงานนอกในด้วยใจร่าเริง สร้างวินัยเฝ้าดูตนเพียรอดทน ค้นหาพุทธะภายใน เปิดใจเรียนรู้ สู่การสร้างสรรค์ตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทำอย่างไรให้เกิดพุทธะภายใน
๑. เดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอกให้ถูกต้อง
๒. ฝึกสติสัมปชัญญะและโยนิโสมนสิการขณะสัมผัสทั้งหก เปิดให้อายตนะทั้งหกทำงาน อย่างอิสระ
๓. ร่างกายผ่อนคลาย กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
๔. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อระบายความร้อน
๕. เดินนานๆ เพื่อฝึกความอดทน เดินจนเกิดทุกข์ เรียนรู้ทุกข์ เกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์จากชีวิต เกิดการปล่อยวาง
๖. เดินเป็นประจำ เพื่อการเรียนรู้ชีวิตอย่างต่อเนื่อง
๗. สนุกสนานกับการเดิน เพื่อให้เกิดจิตเบิกบาน ยอมรับชีวิตตามความเป็นจริงไม่มีอคติ เดินเจ็ดก้าวกระทบให้ลงจังหวะเพลง
๘. ขณะเดินจงกรมปล่อยให้คิดอย่างเสรี คิดดี คิดชั่ว ปลดปล่อยความคิดอดีตออกมาให้หมด คิดเข้าสู่กระบวนการโยนิโสมนสิการ คิดแบบอริยสัจสี่ คิดแก้ปัญหาด้วยปัญญา
๙. หายใจให้ถูกวิธี หายใจเข้าลึก ท้องน้อยป่อง หายใจออกท้องแฟ่บ เพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เต็มที่
๑๐.มีวินัยในการเดิน เดินให้ถูกต้อง ปล่อยให้คิด ดื่มน้ำมากๆ หายใจให้ถูกต้อง







มรรคปฏิบัติขณะเดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก

ทางจิต
ปล่อยให้คิดอย่างเสรี คิดดี คิดชั่ว ปล่อยให้คิดออกมา ไม่มีการกล่าวโทษตัวเอง เดินจงกรมไปด้วยคิดไปด้วย คิดโยนิโสมนสิการ คิดยอมรับชีวิตตามความเป็นจริง ไม่ตำหนิตนเอง วางใจ วางทีท่าชีวิตด้วยจิตเบิกบานท่ามกลางความทุกข์ ไม่มีอคติเมื่อตาเห็น ไม่มีอคติเมื่อหูได้ยิน ไม่มีอคติกับทุกเรื่อง

ใครมีอดีตที่เจ็บปวด เดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอกก็จะมีความคิดในอดีตที่เจ็บปวดออกมาในทุกแง่มุมอย่าหนีความจริง อย่าหลอกตัวเอง อย่าบังคับจิตไม่ให้คิด จะปวดหัว อย่าบังคับสายตา อย่าเดินเกร็งตัว ปลดปล่อยให้ความคิดที่เจ็บปวดออกมา อย่าไปหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่เจ็บปวด จึงต้องมีพี่เลี้ยงช่วยที่จะให้คิดถึงอดีตที่เจ็บปวดได้ พี่เลี้ยงคือ เสียงเพลง เดินให้ลงจังหวะเพลง เดินให้เร็ว เดินให้ลงจังหวะ เดินให้เร็ว ๘ รอบต่อนาที

เดินคิด สืบสวน สอบสวน ชีวิตตัวเอง ตรวจสอบ ประเมินผลชีวิตตนเองที่ผ่านมา คิดต่อไปถึงการปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมชีวิตของตนอย่างไร ที่จะออกมาจากวังวนแห่งความทุกข์นั้น จะคิดวางแผน จัดการชีวิตอย่างไรที่จะไปสู่ความก้าวหน้าความสำเร็จ คิดไปเลย เดินคิดได้อย่างเต็มที่

ทางกาย
ขณะเดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก เดินให้ถูกต้อง ตามแบบของการเดินจงกรมดอกบัวเจ็ดดอก ซึ่งเป็นสาระที่สำคัญมากที่สุด เพราะแบบการเดินเจ็ดก้าว เท้ากระทบส้นชัดเจนถูกต้องจิตเบิกบานนี้จะก่อเกิดสติสัมปชัญญะอย่างรวดเร็ว สนุกสนานกับการเดินให้ลงจังหวะเพลง หายใจยาวลึกถึงท้องน้อย หายใจออกอย่างผ่อนคลาย ให้ลงจังหวะกับการก้าวกระทบและลงจังหวะกับการเดินและเสียงเพลง

การกระทบของส้นเท้าจะมีผลต่อสมองโดยตรง เพราะกระทบส้นเท้าซ้ายจะไปโดนปลายเส้นประสาทที่โยงไปกระทบเส้นประสาทสมองซีกขวา กระทบส้นเท้าขวา จะมีผลต่อปลายประสาทที่โยงใยไปกระทบเส้นประสาทสมองซีกซ้าย

เมื่อสมองซีกซ้าย และสมองซีกขวา ถูกกระทบอย่างสมดุล ทำให้สมองสองซีกแข็งแรง เกิดปัญญา เกิดไหวพริบในการตัดสินปัญหาชีวิต เกิดสมาธิจิตนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ได้รวดเร็ว

ในสมองก็ปล่อยให้คิด ทำจิตใจให้มาสนใจสนุกกับการเดินด้วยลูกเล่น ลีลา ร่าเริงกับการเดินให้ลงจังหวะเพลง ไม่เกร็งกล้ามเนื้อ หน้ามองตรง มองทุกอย่างที่ผ่านมาอย่างอิสระ กระดูกสันหลังตรง

เดินให้เร็ว ๘ รอบต่อนาที ความเร็วของการเดินจะเกิดเป็นแรงเหวี่ยงที่จะให้ความคิดหลุดออกไปจากสมองได้อย่างรวดเร็ว เดินเร็ว ๘ รอบต่อนาที จะทำให้เดินลงกับจังหวะเพลง จะเกิดความเพลิดเพลินสุนทรีย์ในจิตใจ เกิดการผ่อนคลายเส้นประสาทสมองได้อย่างรวดเร็ว
***เดินนาน ๆ รับรู้สภาวะทุกข์ ปวดขา ปวดเมื่อยตามความเป็นจริง ปัญหามา ปัญญาเกิด หาปัญญา
***ขณะเดินเร็ว ๘ รอบต่อนาที เดินนาน เกิดกระบวนการสันดาปภายใน ความร้อนจะเกิดขึ้น เพราะต้องใช้พลังงานมาก จะรู้สึกร้อนเหงื่อออกเหนื่อย หิวเร็ว จะรู้สึกปากแห้ง คอแห้ง รู้สึกกระหายน้ำ อย่าทิ้งไว้ แสดงว่าร่างกายขาดสมดุล น้ำไม่เพียงพอ จุดนี้จะเป็นตัวก่อโรคภายในร่างกายเกี่ยวกับระบบการหายใจ

ให้หยุดการเดินจงกรม และไปดื่มน้ำมากๆ ๑ ลิตร และกลับมาเดินใหม่ จะรู้สึกอึดอัดที่ดื่มน้ำมาก ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ เดินจงกรมต่อไป น้ำจะซึมซับเข้าสู่เซลล์ประสาท เซลล์สมอง ซึมซับเข้าสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย จะสร้างความสดชื่นให้ชีวิตชัดเจน

หลังจากดื่มน้ำแล้ว การเดินจงกรมเร็ว ๘ รอบต่อนาทีจะทำให้เกิดการหิวเร็วขึ้น ต้องรับประทานให้สมดุล กล่าวได้ว่า ปลูกบัวให้งามต้องถึงน้ำถึงปุ๋ย ใส่น้ำ ใส่ปุ๋ย ให้กับชีวิต ให้สมดุล คุณภาพชีวิตจะเกิดขึ้น

เดินนานๆ รับรู้สภาวะทุกข์ ปวดขา ปวดเมื่อยตามความเป็นจริง ปัญหามา ปัญญาเกิด หาปัญญามาแก้ไขด้วยรอยยิ้ม เดินลงจังหวะเพลง จิตไม่อยู่กับความเจ็บ จิตมาสนุกกับการเดินลงจังหวะเพลง ไม่มีอคติต่อความเจ็บ ยอมรับความเจ็บด้วยจิตเบิกบาน เจ็บก็รู้ว่าเจ็บ เดินต่อไป จนเห็นภาวะความเกิดดับของความเจ็บ เห็นภาวะการเกิดดับของความคิด จนเกิดปัญญาเห็นชีวิตตามความเป็นจริงทุกอย่างทุกสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรน่ายึดถือ ยึดติด เมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น จิตเกิดการปล่อยและวาง ภาวะความทุกข์ทั้งหลายก็จะจางคลายไปโดยอัตโนมัติ

นอกจากความปวดเมื่อยแล้ว ขณะเดินนานๆ จะเกิดความเหนื่อยเพราะเดินเร็ว เดินนานอย่าถอย เดินต่อไป มีลีลาลูกเล่นกับการเดิน และหายใจยาวลึกต่อไป ขณะกระทบส้นเท้า หายใจเข้าลึกถึงท้องและผ่อนลมหายใจออก ถึงจุดหมุนกระทบส้นเท้าให้หายใจเข้าให้พอดี จิตอย่าไปอยู่กับความเหนื่อย ให้จิตสนุกกับการเดิน จิตสนุกกับการหายใจยาวลึก หายใจผ่อนคลาย รับรู้ว่าเหนื่อยตามความเป็นจริง และมาแก้ไขความเหนื่อยด้วยการหายใจผ่อนคลาย อย่าถอนความเร็ว ยังคงเดินเร็ว ๘ รอบต่อนาทีอย่างสม่ำเสมอต่อไป ความเหนื่อยเกิดขึ้นความเหนื่อยตั้งอยู่ ความเหนื่อยก็ดับไป

เมื่อสามารถผ่านสภาวะทุกข์หลายรูปแบบ สภาวะทุกข์ทางความคิดก็ปล่อยให้คิดออกมาให้หมด ความคิดปัญญาเกิดมาแทนที่

สภาวะทุกข์ ปวดเท้า เมื่อยขา มีลีลาลูกเล่นกับการเดินผ่อนคลายเส้น ความปวดขาก็หายไป
สภาวะทุกข์ ความเหนื่อย เดินต่อไปด้วยความเร็วสม่ำเสมอ หายใจผ่อนคลายยาวลึกข้าไป
ความเหนื่อยก็หายไป

สุดท้ายสิ้นสุดการเดินจงกรมดอกบัว ๗ ดอก แผ่เมตตา ส่งความรักปรารถนาดีให้กับทุก
สรรพสิ่ง และยืดเส้นคลายเส้น ให้เลือดลมเดินได้สะดวกยิ่งขึ้น
และจบด้วยการนั่งเจริญสติพุทธลีลา เคลื่อนไหวมือตามแบบอย่างสมเด็จพ่อพระพุทธเจ้า
ในสามปาง ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา และปางสมาธิ เป็นการผ่อนคลายสมอง ผ่านเส้นประสาทมือ
และหายใจยาวลึกประกอบการเคลื่อนไหวนิ่ง เป็นการเก็บพลังชีวิต
ผล ทั้งกายและใจ เข้าสู่สภาวะโล่ง โปร่ง เบาสบาย จิตเป็นสมาธิ พร้อมที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ











ฝึกไปเรื่อยๆฝึกประจำ อะไรเกิดขึ้น
สติจะคม ปัญญาจะไว ไหวพริบจะมีสันติสุขเต็มที่ สุขนอกสงบใน

เดินจงกรมดอกบัว ๗ ดอกและ พุทธลีลา


แหวกว่ายทะเลทุกข์
ข้ามแดนนรก สู่แดนพุทธะ
ทำแบบฝึกหัดบำบัดทุกข์หลากหลายที่เข้ามาเยือนชีวิต
ด้วยจิตแจ่มใส
ญาณวิเศษ คือ ฝึกสติสัมปชัญญะอย่างสนุกสนานร่าเริง
กับพี่เลี้ยงคือ เสียงเพลง
บนพื้นฐาน ๗ ก้าวเท้ากระทบ ตามรอยเท้าเจ้าชายสิทธัตถะ
ดอกบัว ๗ ดอกบอกความเบิกบานใจ
ผนวกกับการปลดปล่อยความคิด คิดดีคิดชั่ว คิดออกมาอย่างเสรี
บนกระบวนการคิดโยนิโสมนสิการ ทุกรูปแบบ
ทั้งอริยสัจสี่ อิทัปปัจจยตา
เห็นที่มาของปัญหา เกิดปัญญา
จัดการกับชีวิต ด้วยจิตพุทธะ
มีสรณะ คือ พระรัตนตรัย

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

มาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรม

คุณธรรม จริยธรรม
 

 ความหมายของคุณธรรม จริยธรรม คำว่าจริยธรรม ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Morality ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
โชติ เพชรชื่น (2524 : 23) กล่าวว่าจริยธรรม ก็คือ “จริยะ” แปลว่าความประพฤติกิริยาที่ควรประพฤติ “ธรรม” คือ ความดี เมื่อรวมความหมายของสองคำเข้าด้วยกันคือ ความประพฤติดี กรมวิชาการ (2524 : 3-4) ไดให้ความหมายจริยธรรมว่าเป็นแนวทางของการประพฤติชอบทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม
กระทรวงศึกษาธิการ (2548 : 2) ให้ความหมายคูณธรรมไว้ว่า สิ่งที่บุคคลส่วนใหญ่ยอมรับว่าดีงาม ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำที่เป็นประโยชน์ และความดีงามที่ดีที่แท้จริงต่อสังคม
จริยธรรม หมายถึง สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องมือช่วยตัดสิน และกำหนดการกระทำของตนเอง
โคลเบอร์ก (Kohlberg). 1976 : 4-5) ได้ให้ความหมายของจิยธรรมไว้วา จริยธรรมมีพื้นฐานของความยุติธรรม คือมีการกระจายสิทธิและหน้าที่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้หมายถึงเกณฑ์บังคับทั่ว ๆ ไป แต่เป็นเกณฑ์ที่มีความเป็นสากลที่คนส่วนใหญ่รับไว้ในทุกสถานการณ์ ไม่มีการขัดแย้งเป็นอุดมคติ
เรสต์ (Rest . 1977 : 6) ได้ให้ความหมายของจริยธรรมว่า จริยธรรมเป็นมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับหลักความยุติธรรมในการมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม โดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละบุคคล เช่น ความรู้สึกส่วนตัวที่จะพัฒนาตนเองถึงจุดสุดยอดแห่งศักยภาพของเขา
จากความหมายที่ได้กล่าวมาแล้ว สรุปได้ว่า คุณธรรม จริยธรรม หมายถึง คุณลักษณะที่เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการคิดในทางที่ถูกต้อง ดีงาม มีคุณประโยชน์ทั้งตนเอง ละส่วนรวมสามารถควบคุมตนเองในการประพฤติปฏิบัติ และการปรับตัวเพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในสังคม
การส่งเสริมคุณธรรมนำความรู้ คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ
ขอบข่ายของคุณธรรม จริยธรรม ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน และเยาวชน ได้แก่
ขยัน ประยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ขยัน คือ ผู้ที่มีความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
ประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะทางการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย
ไม่ฟุ้งเฟ้อ รู้จักทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ของตนเองอยู่เสมอ
ซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อเวลา ต่อหน้าที่ และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกเอนเอง หรืออคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม
รับรู้หน้าที่ของตนเองปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้อง
มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน องค์กร และประเทศ โดยที่ตนยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ และตั้งใจยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และข้อปฏิบัติ รวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเอง และสังคม สุภาพ คือ คือ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตามสถานภาพ และกาลเทศะ
มีสัมมาคารวะ เรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจา และท่าทางเป็นผู้มีมารยาทดีงาม วางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
สะอาด คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตไม่ให้ขุ่นมัว มีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม มีความผ่องใส เป็นที่เจริญตา ทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น
สามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน
ทั้งในฐานะผู้นำ และผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่าง
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์
มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ และเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์ และผู้ที่มีความเดือดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย และสติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพ่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน
จากการศึกษาในเรื่องคุณธรรมนำความรู้ คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขของนักเรียน ตามแนวของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถสรุปได้ดังตาราง 1

อ่านเพิ่มเติม



  แหล่งอ้างอิงhttp://www.moph.go.th/ops/opct/matatan.html